การแข่งขันเรือพายและเรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย

เผยแพร่เมื่อ วันอาทิตย์, 17 กันยายน 2560 13:16
เขียนโดย Super User
ฮิต: 800
ปรับขนาดตัวอักษร

      วันที่ 14 กันยายน 2560 เวลา 09.00 น. นาย วีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือพาย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ณ บริเวณอุทยานสวรรค์ อ่างทอง หนองเจ็ดเส้น ตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ปลัดจังหวัดอ่างทอง โดยมี นายไพบูลย์ ศุภบุญ นายอำเภอป่าโมก ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ คณะกรรมการจัดงาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักกีฬาแข่งขันเรือพาย และประชาชน ให้การต้อนรับ

     ด้าน นายไพบูลย์ กล่าวว่า การแข่งขันเรือยาวประเพณี หรือการแข่งเรือพาย เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำ ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เรือ และผู้คนบนพื้นฐานความสามัคคี พร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คน สร้างความสามัคคีของฝีพายในเรือลำเดียวกัน ความเสียสละของฝีพายที่จะต้องขยันหมั่นเพียรในการฝึกซ้อม เพื่อที่จะคว้ามาซึ่งชัยชนะ และการรักษาประเพณีอันดีงามให้สืบทอดต่อไป โดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับอำเภอป่าโมก จึงจัดงาน “ งานแข่งขันเรือพาย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ” เพื่อเป็นการอนุรักษ์กีฬาพื้นบ้าน แข่งเรือพาย ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยววิถีไทย ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดอ่างทอง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เป็นมุมใหม่ ( Unseen) ของจังหวัดอ่างทอง คือ อุทยานสวรรค์ อ่างทอง หนองเจ็ดเส้น ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงหนองเจ็ดเส้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง และตำบลสายทอง อำเภอป่าโมก

สำหรับการจัดงานแข่งขันเรือพาย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เพื่อบูรณาการในการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของจังหวัด โดยมีกิจกรรมแข่งขันประกอบไปด้วย การแข่งขันเรือยาว 10 ฝีพาย การแข่งเรือพายหัวใบ้ท้ายบอด 2 ฝีพาย การแข่งเรือห่วงยาง 1 ฝีพาย โดยรับความร่วมมือจากที่ทำการปกครองจังหวัดอ่างทอง และอำเภอทุกอำเภอ ส่งทีมเข้าร่วมทำการแข่งขัน ประเภทละ 8 ทีม เพื่อร่วมอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านให้คงอยู่คู่หมู่บ้าน และชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำ เพื่อสามารถบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

FaLang translation system by Faboba