ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอเชิญร่วมงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2556

ปรับขนาดตัวอักษร

        จังหวัดอ่างทอง กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2556 ในวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2556 โดยกำหนดให้มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีถวายพระพรชัยมงคลและลงนามถวายพระพร พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล

การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ประจำจังหวัดอ่างทอง

ปรับขนาดตัวอักษร

 

          สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอ่างทอง กำหนดให้ผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร 9 ประเภท ส่งผู้แทนเป็นกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยกำหนดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 นี้

          นางสาวภูริสุดา นิลวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 246 วรรคท้ายบัญญัติว่า “ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด โดยมีคุณสมบัติกระบวนการสรรหา และอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542” ซึ่งในส่วนของจังหวัดอ่างทองกำหนดให้มีกรรมการ ป.ป.จ.ได้จำนวน 3 คน

          เพื่อให้การสรรหากรรม ป.ป.จ.เป็นไปอย่างโปร่งใส จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งมาจากผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในจังหวัดรวม 9 กลุ่มองค์กร มาคัดเลือกกันเองให้เหลือหน่วยงานหน่วยงาน/องค์กรละ 1 คน รวม 9 คน เพื่อมาทำหน้าที่สรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยหน่วยงาน/องค์กรทั้ง 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1)สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา 2)สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย 3)สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน 4)สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหรกรรมจังหวัดหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด 5)กลุ่มอาสาสมัคร 6)องค์กรเอกชน 7)องค์กรเกษตรกร 8)สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน และ 9)หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด

          ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอ่างทอง จะได้เชิญประชุมตัวแทนของหน่วยงาน/องค์กรทั้ง 9 กลุ่ม ที่มีสิทธิส่งผู้แทนเป็นกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. กระบวนการสรรหา และความสำคัญของผู้แทนหน่วยงาน/องค์กร และกำหนดรับขึ้นทะเบียนหน่วยงาน/องค์กรที่ประสงค์ส่งผู้แทนเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในวันที่ 1-9 สิงหาคม 2556 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดอ่างทอง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ชั้น 2 (หลังเก่า) โทร. 035-613822 /*

ขอให้ตรวจสอบร้านจำหน่ายสินค้าของฝากในจังหวัด

ปรับขนาดตัวอักษร

นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แจ้งว่า จังหวัดอ่างทองได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค เกี่ยวกับสินค้าในร้านจำหน่ายสินค้าของฝากในบางจังหวัดไม่มีคุณภาพ เช่น ข้าวเกรียบ มะพร้าวแก้ว ขนมทอดมีกลิ่นหืน เนื่องจากถูกเก็บไว้เป็นเวลานานจนใกล้หมดอายุ ซึ่งหากรับประทานไปแล้วอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงกรณีการซื้อของฝากแล้วถูกร้านค้าเอาเปรียบ เช่น สินค้าอย่างบรรจุในกระเช้า     ใบใหญ่แต่สินค้ากลับมีจำนวนไม่กี่ชนิด ที่เหลือเป็นเศษกระดาษที่ยัดไว้ข้างในเพื่อให้สินค้าดูมีจำนวนมาก      ในการนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค      มีบัญชาให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค


จังหวัดอ่างทองจึงขอความร่วมมือผู้บริโภค หากพบเห็นร้านจำหน่ายสินค้าของฝากที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถแจ้งให้จังหวัด หรือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่สายด่วน 1166 หรือ www.ocpb.go.th และขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ให้มีการกระทำเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในการจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน ขอให้จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพถูกสุขอนามัย มีปริมาณที่เหมาะสมกับราคาและมีการจัดทำฉลากสินค้าโดยแสดงข้อความต่างๆ ตามกฎหมายกำหนดให้ถูกต้อง/*

สสจ.อ่างทอง เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวังลูกหลาน 2 โรคในเด็ก “ไข้เลือดออก–มือเท้าปาก” ช่วงฤดูฝน

ปรับขนาดตัวอักษร


         นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) ได้สั่งการและเน้นให้โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เฝ้าระวังและควบคุมป้องกัน 2 โรคในเด็กที่พบมากในฤดูฝน คือไข้เลือดออกและโรคมือเท้าปาก ซึ่ง 2 โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากฝนตกชุกและสภาพอากาศชื้น มีอาการเริ่มต้นใกล้เคียงกัน พบได้ตลอดปี และพบมากขึ้นในฤดูฝน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน กลุ่มที่ต้องให้การดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งยังดูแลตัวเองได้น้อยกว่าคนทั่วไป สถานการณ์โรคทั้ง 2 โรคล่าสุด ในระดับประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 5,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและนักเรียน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรคมือเท้าปากพบผู้ป่วยสะสม 16,112 ราย ร้อยละ 93 อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่มีเสียชีวิต 

         สำหรับจังหวัดอ่างทอง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 พบผู้ป่วย 121 ราย อัตราป่วย 42.93 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กและนักเรียน กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี  รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อำเภอไชโย อัตราป่วย 99.44 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ แสวงหา และเมืองอ่างทอง อัตราป่วย 60.56, 44.64 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ  จึงได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น ซึ่งคาดว่าจะระบาดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงขอความร่วมมือหน่วยงานทุกแห่งทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนทุกพื้นที่ ควรเร่งดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์/รณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและภาชนะที่มีน้ำขังที่ไม่ได้ใช้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องในชุมชน โดยเน้นมาตรการ 5ป 1ข ปิดฝาภาชนะให้สนิท เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำทุกๆ 7 วัน ขัดล้างไข่ยุงลายที่แห้งติดภาชนะ ส่วนการรักษาเน้นการป้องกันการเสียชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งได้อบรมฟื้นฟูความรู้และแนวทางตรวจวินิจฉัย การรักษา โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ แพทย์รักษาเด็ก หากพบผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัยคือไข้สูงมากกาว่า 38 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการไอ ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรคไข้เลือดออก ตามมาตรการที่กำหนด และหากพบว่าเป็นไข้เลือดออกให้ประสานส่งทีม     เฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ลงควบคุมโรคที่บ้านหรือโรงเรียน ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

            สำหรับโรคมือเท้าปาก ขณะนี้พบว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะอยู่ในช่วงการระบาด แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง จำนวนผู้ป่วยในภาพรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เนื่องจากมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ให้ประสานครูในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง เพื่อร่วมเฝ้าระวังและตรวจจับโรคได้ทันและแจกเอกสารความรู้โรคมือเท้าปาก ให้ผู้ปกครองเด็กทุกคน รวมทั้งขอความร่วมมือให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อเครื่องเล่น ของใช้ของเด็กทุกวัน ประการสำคัญให้ช่วยตรวจคัดกรองเด็กทุกเช้า ดูตุ่มที่มือ เท้า และปากของเด็ก หรือมีไข้ หากพบเด็กป่วยให้แยกเด็กและให้ผู้ปกครองรับตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทันที      

ทั้งนี้ อาการของโรคมือเท้าปากและไข้เลือดออก จะเริ่มจากไข้สูงเหมือนกัน และไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก หากเป็นไข้เลือดออก ไข้จะสูงลอยต่อเนื่อง กินยาลดไข้ไม่ลด หน้าแดง มีผื่นแดง หรือจุดเลือดออก     ใต้ผิวหนัง ส่วนมือเท้าปาก หลังมีไข้จะมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นที่บริเวณมือ เท้า มักไม่คัน และตุ่มอาจขึ้นภายในเยื่อบุช่องปาก ตามลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เด็กจะเจ็บ ไม่กินอาหาร หากประชาชนพบบุตรหลานมีอาการป่วยที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโดยเร็ว  

ขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการควบคุมและป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก

ปรับขนาดตัวอักษร


            กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการควบคุมและป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคดังกล่าว
            นางสาวอารยา  ศรีเทพ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน อัตราการป่วยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องและสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดว่าในปี 2556 นี้ จำนวนผู้ป่วยจะสูงถึง 120,000-150,000 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตจะมีถึง 140-200 ราย ประกอบกับพื้นที่ในสถานประกอบกิจการที่มีจำนวนคนทำงานมากมีความเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกสูง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีความเป็นห่วงนายจ้าง / ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกในสถานประกอบกิจการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการควบคุมและป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก ดังนี้
                   1. ขอความร่วมมือให้บุคลากรในสังกัดดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงทุกสัปดาห์
                   2. สนับสนุนการรณรงค์กำจัดลูกน้ำในสถานประกอบกิจการ และที่พักคนงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ
                   3. ดำเนินการให้มีการเฝ้าระวังบุคลากรในสถานประกอบกิจการที่มีไข้ หากสงสัยไข้เลือดออก แนะนำให้ไปพบแพทย์
                   4. ให้สถานประกอบกิจการดำเนินกรป้องกันไม่ให้คนงานถูกยุงกัด
          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทอง โทร. 035-611331 ในวันและเวลาราชการ
 

-------------------------------------------------------------

                                                          วันวิสาข์  จันทวร / ข่าว

15307407
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา
เฉพาะเดือนนี้
เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมด
10527
12570
28735
15261681
158178
170375
15307407

IP 18.222.161.123
Server Time: 2024-07-23 05:25

สำหรับเจ้าหน้าที่