เชื่อมโยงหน่วยงาน

มากกว่า...

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำขวัญจังหวัดอ่างทอง

ปรับขนาดตัวอักษร

     คำขวัญประจำจังหวัด เป็นคำขวัญที่แต่งขึ้นเพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัด โดยจังหวัดอ่างทองได้แต่งคำขวัญประจำจังหวัดว่า “พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน”

 

พระสมเด็จเกษไชโย

หมายถึง พระเครื่องสมเด็จวัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตารามเป็นผู้สร้างพระสมเด็จเกษไชโย วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ช่วงอกขององค์พระเป็นร่องเด่นอยู่ 2 เส้น เรียกว่า “อกร่อง” นับเป็นพระเครื่องเมืองอ่างทองที่มีชื่อเสียงมาก มีผู้คนนิยมไม่เสื่อมคลาย

 

หลวงพ่อโตองค์ใหญ่

หมายถึง พระมหาพุทธพิมพ์ หรือหลวงพ่อโตวัดไชโยวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะโดดเด่น เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแทนหลวงพ่อโตองค์เดิมที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) สร้าง แต่หักพังลงเนื่องจากการบูรณะและการสร้างโบสถ์วิหาร และได้รับพระราชทานนามว่าพระมหาพุทธพิมพ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

วีรไทยใจกล้า

หมายถึง วีรชนครั้งศึกบางระจัน ประมาณ พ.ศ.2309 สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชาววิเศษชัยชาญ ได้แก่ นายดอก นายทองแก้ว ยังมีนายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง อำเภอแสวงหา ได้สร้างวีรกรรมในศึกบางระจัน โดยมีนักรบจากค่ายบางระจันอีก จำนวน 5 คน นอกจากนี้ยังมีนักรบผู้กล้าหาญชาววิเศษชัยชาญอีก อาทิ ขุนรองปลัดชู รวมกำลังชาวบ้านอีก 400 คน อาสาไปสกัดทัพพม่า และปะทะกันที่อ่าวหว้าขาว (เหนือที่ตั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) เมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว ได้สร้างวัดสี่ร้อยเป็นอนุสรณ์

ตุ๊กตาชาววัง

หมายถึง ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ตำบลบางเสด็จ ทรงทราบปัญหาเรื่องน้ำท่วมไร่นา ทำให้เกิดความเสียหาย ราษฎรขาดรายได้ ทำให้มีฐานะยากจน จึงมีพระราชดำริให้นำโครงการปั้นตุ๊กตาชาววังมาให้ชาวบ้านอบรมและฝึกทำเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร จนปัจจุบันกลายเป็นสินค้า OTOP จังหวัดอ่างทอง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในและนอกจังหวัดอ่างทอง

โด่งดังจักสาน

หมายถึง หัตถกรรมเครื่องหวาย ของชาวอำเภอโพธิ์ทอง และเครื่องจักสานไม่ไผ่ ตำบลบางเจ้าฉ่า เนื่องจากจังหวัดอ่างทองเป็นจังหวัดพื้นที่ราบลุ่ม มีต้นไผ่ขึ้นอยู่เองมากมาย รวมทั้งที่ปลูกไว้ใช้สอยในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะไผ่สีสุกและไผ่เหลือง สามารถนำมาทำเครื่องจักสานได้มากมายและสวยงาม สมัยก่อนจะสานเครื่องใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันพัฒนารูปแบบเป็นที่นิยมทั่วไป สามารถจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอาชีพของคนจำนวนมากในจังหวัด เป็นสิ่งสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอ่างทอง เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดอ่างทองที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันมีการรวบรวมผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจนพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เครื่องจักสานในตำบลบางเจ้าฉ่า นับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในภาคกลางเป็นอย่างดี

ถิ่นฐานทำกลอง

หมายถึง หัตถกรรมการทำกลองของชาวบ้านตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นแหล่งผลิตกลองที่มีชื่อเสียง เนื่องจากผลิตกลองได้สัดส่วนสวยงาม ประณีตเรียบร้อย ที่สำคัญ เสียงกลองจะทุ้มไพเราะ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นถิ่นฐานทำกลอง เป็นแหล่งกลองดีตีดังที่ดีที่สุดในประเทศ และปัจจุบันได้จัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดอ่างทอง ประกอบด้วย กลองตะโพน กลองทัด รำมะนา กลองยาว กลองรำวง กลองเพล และกลองต่างชาติ 

เมืองสองพระนอน

หมายถึง จังหวัดอ่างทอง มีพระนอนมากกว่า 2 องค์ แต่ที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองและมีพุทธลักษณะงามมาก 2 องค์ คือ พระนอนที่วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก และพระนอนที่วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง 

พระนอนวัดป่าโมก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองตลอดองค์นอนตะแคงขวา มีความยาวจากพระเกศถึงพระบาท 11 วา 1 ศอก 10 นิ้ว หนุนพระเขนยรูปทรงกระบอก 3 ใบลดหลั่นกันไป แล้วคลุมด้วยผ้าทิพย์ที่มีลวดลายวิจิตรงดงามที่สุด ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า ได้ลอยมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรช่วยกันชะลอไว้บนฝั่ง ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม ชะลอเลื่อนอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วิหาร ซึ่งสร้างขึ้นใหม่

พระนอนวัดขุนอินทประมูล เป็นประพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 50 เมตร มีชื่อว่า “พระศรีเมืองทอง” องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกัน เดิมพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ต่อมาหักพังหมดเหลือแต่เสาจึงมองดูคล้ายประดิษฐานบนโคกดิน ชาวบ้านจึงเรียกว่า โคกพระนอน เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 1 วัดนี้ถูกไฟเผาและกลายเป็นวัดร้างกว่า 100 ปี ต่อมาสมัยพระเจ้าบรมโกศได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์และมีการบูรณะอีกครั้งในสมัยราชการที่ 5 ปัจจุบันองค์พระพุทธไสยาสน์อยู่กลางแจ้ง อาคารพังหมดแล้วเหลือแต่เสาด้านหน้าพระประธานเป็นลานกว้าง ตรงหน้าพระนอนมีรูปปั้นของชายคนหนึ่ง เล่ากันว่าเป็นรูปปั้นของขุนอินทประมูล นายอากรที่ยักยอกเงินหลวงนำไปสร้างวัด ครั้นพอทราบถึงพระมหากษัตริย์ทรงสอบสวน    ขุนอินทประมูลไม่ยอมพูดอะไร จึงถูกลงโทษโดนเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดขุนอินทประมูล”

 

 
16825092
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา
เฉพาะเดือนนี้
เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมด
3747
7499
3747
16768719
97991
324756
16825092

IP 18.117.156.84
Server Time: 2024-12-22 13:16

สำหรับเจ้าหน้าที่

ปรับขนาดตัวอักษร

Copyright © 2015 จังหวัด อ่างทอง
จัดทำโดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
โทร.0-3561-1235 , 0-3561-4912  e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. / This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.