ข่าวประชาสัมพันธ์
สสจ. อ่างทองเตือนผู้ประกอบการผลิตน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านเรือนทุกราย อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ผลิตขายโดยไม่ได้รับอนุญาต
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 16 มกราคม 2555 16:19
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 7019
สสจ. อ่างทองเตือนผู้ประกอบการผลิตน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านเรือนทุกราย อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ผลิตขายโดยไม่ได้รับอนุญาตหากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริษัท ดีวีพี คลีนเซ็นเตอร์ จำกัด ลักลอบผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเถื่อน พร้อมเว็บไซต์ http://www.dvpclean.com โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิดกฎหมายโดย อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. บุกจับสถานที่ลักลอบผลิต – จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ชื่อ บริษัท ดีวีพี คลีนเซ็นเตอร์ จำกัด ย่านบึงกุ่ม ตรวจพบสถานที่ผลิตไม่ได้ขออนุญาตผลิตจาก อย. และพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชนิดต่างๆ ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. ยึดของกลางมูลค่ากว่า 500,000 บาท ยังตรวจพบเปิดเว็บไซต์ชื่อ http://www.dvpclean.com โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดไม่ถูกต้อง เตือนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด ขอให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ขออนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง สังเกตฉลาก ต้องมีเลขทะเบียน อย.วอส.นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พล.ต.ต. นิพนธ์ เจริญผล ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากเกิดเหตุอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ประชาชนมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ จำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความสำคัญและมีการออกตรวจสอบผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบพบสถานที่ผลิตแห่งหนึ่งมีการผลิตผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายหลายชนิด รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำความสะอาดครบวงจร โดยจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง รวมทั้งเปิดเว็บไซต์ชื่อ http://www.dvpclean.com เพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ถูกต้องด้วย
ดังนั้น อย. จึงได้ส่งเรื่องให้ทาง บก.ปคบ. สืบหาข้อเท็จจริง และพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายจริง โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555 อย.ประสานไปยังตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตชื่อ บริษัท ดีวีพี คลีน เซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 4/1390-1391 หมู่ 7 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. และจากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตผลิตจาก อย. และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชนิดต่างๆ ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. ซึ่งผลการตรวจ พบ อุปกรณ์การผลิตและสารเคมีวัตถุอันตรายที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผสมแล้ว รอบรรจุ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรอส่งจำหน่าย นอกจากนี้ ยังพบอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น แปรงถูพื้น ไม้ถูพื้น ไม้กวาด พร้อมฉลากผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมาก
ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. ยี่ห้อ ดีวีพี ที่ยึดได้ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์น้ำยาถูพื้นประจำวัน (บลูเฟรช)
2. ผลิตภัณฑ์น้ำยาถูพื้นไบโอ เฟรช
3. ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างลอกแว็กซ์
4. ผลิตภัณฑ์น้ำยาดันฝุ่น
5. ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำกัดสนิม
6. ผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์
7. ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ – ดับกลิ่น
8. ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างรถ
9. ผลิตภัณฑ์น้ำยาเช็ดกระจก
รวมทั้งยังพบฉลากผลิตภัณฑ์ถูพื้น ฉลากผลิตภัณฑ์ล้างจาน ฉลากผลิตภัณฑ์ดันฝุ่น ฉลากผลิตภัณฑ์เช็ดกระจก ฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ-ดับกลิ่น ฉลากผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาว ฉลากผลิตภัณฑ์ลอกแว๊กซ์ เครื่องปั่นกวนสาร ฝาเกลียวพลาสติก และภาชนะบรรจุแกลลอนพลาสติก จำนวนมาก มูลค่าของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดประมาณ 500,000 บาท
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้
1. กรณีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ความผิดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขออนุญาตผลิต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรณีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ความผิดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยไม่ได้แจ้งการดำเนินการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนมายังผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ในบ้านเรือนทุกราย อย่าได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยสถานที่ผลิตต้องขออนุญาตถูกต้อง และผลิตภัณฑ์ต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ อย. จะร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. เฝ้าระวังและตรวจสอบโรงงานผลิตผลลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้มีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย เป็นอันตรายต่อการใช้ หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ขอให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดทุกรายมีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับข้อสังเกตที่ผู้บริโภคควรตรวจสอบหากไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อมีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถดูได้จากฉลากสินค้า โดยในฉลากสินค้าจะต้องแสดง เลขทะเบียน อย.วอส.ดังตัวอย่างด้านล่างนี้
บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของ อย. จะมิให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและอย่าหลงเชื่อโฆษณาตามเว็บไซต์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขายในราคาถูก หรือแอบอ้างว่าได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.ถูกต้อง เพราะอาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นอันตรายต่อการใช้ได้ หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นการผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่คาดว่าจะเป็นอันตราย โปรดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ สามารถร้องเรียนได้ที่ บก.ปคบ. ตู้ ปณ. 459 ปณศ. สามเสนในพญาไท กทม. 10400 หรือที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง หมายเลขโทรศัพท์ 035-614252 ทุกวัน ในเวลาราชการ
-------------------------------------------------
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค วันที่ 9 มกราคม 2555 ข่าวแจก 29 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
สสจ.อ่างทอง เตือนผู้บริโภคควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้เครื่องสำอาง
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 26 ธันวาคม 2554 13:41
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 3755
ตามที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 กรณีผู้บริโภค ต.โนนขมิ้น จ.หนองบัวลำภู เกิดอาการแพ้ มีผื่นขึ้นเต็มใบหน้า ลำคอ และแขน
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีข่าวของผู้บริโภค ต.โนนขมิ้น จ.หนองบัวลำภู ที่เกิดอาการแพ้โดยมีผื่นขึ้นเต็มใบหน้า ลำคอ และแขน โดยเฉพาะริมฝีปาก มีลักษณะคล้ายเป็นแผล สันนิษฐานว่าการแพ้น่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้จากการสัมผัสหรือทา ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เครื่องสำอางต่าง ๆ และการแพ้จากการรับประทาน ซึ่งอาจเป็นยาหรือสารใด ๆ ก็ตามที่มีผลทำให้เกิดการแพ้ ซึ่งการแพ้นี้เป็นปฏิกิริยาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนแต่ละคน จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ผู้ที่แพ้สารใด เมื่อได้สัมผัสกับสารนั้นเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดอาการที่ไม่พึง-ประสงค์ได้ สำหรับผู้บริโภครายนี้มีการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าผสมสารป้องกันแสงแดด ที่ซื้อจากร้านค้าใกล้บ้าน อย. จึงได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หนองบัวลำภู และกลุ่มควบคุมเครื่องสำอางของ อย. เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีส่วนผสมที่ผิดปกติหรือไม่
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทาง อย. จึงขอเตือนมายังผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอาง เพราะถึงแม้เครื่องสำอางจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย แต่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้ ควรอ่านรายละเอียดตามที่ระบุบนฉลาก และปฏิบัติตามวิธีใช้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง เป็นอันตรายต่อผิวพรรณ ดังนั้น ก่อนใช้เครื่องสำอางใด ๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ไม่เคยใช้มาก่อน ควรมีการทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง ด้วยการทาผลิตภัณฑ์นั้นในปริมาณเล็กน้อยลงบริเวณท้องแขนหรือบริเวณติ่งหู ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น แสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้ว มีความผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดใช้ทันที หากยังไม่หายให้ปรึกษาแพทย์ และการเลือกซื้อควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยตามข้อความที่กฎหมายกำหนด เช่น ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต เดือนปีที่ผลิต เป็นต้น
สสจ. อ่างทอง เตือนเลือกซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่ที่ปลอดภัย
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 19 ธันวาคม 2554 14:07
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 4309
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายคนจะซื้อของขวัญให้แก่คนที่รักและเคารพนับถือ และร้านค้าต่างๆ จะมีชุดของขวัญหรือกระเช้าของขวัญปีใหม่ที่จัดสินค้าชุดขาย ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคดูฉลากอาหารที่มี อย. และ วันหมดอายุทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าในกระเช้านั้นไม่ได้หมดอายุ และปลอดภัยต่อสุขภาพ หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการแสดงฉลากถูกต้อง สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อ่างทอง ทางหมายเลขโทรศัพท์ (035) 614 – 252 ส่วนผู้จำหน่ายที่กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงรายการผลิตภัณฑ์, ไม่ระบุวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน จะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ ก็เพื่อความสุขของผู้รับและตัวผู้ให้เอง
ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง
อย.เตือน! อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า”
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 26 ธันวาคม 2554 13:32
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 3969
อย.เตือน! อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า” พบผู้บริโภคบางรายได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงพบโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต ล่าสุดสั่งระงับโฆษณาทั้งแผ่นพับ วิทยุ เว็บไซต์ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนและเคเบิ้ลทีวี รวมทั้งในรูปแบบขายตรง อวดสรรพคุณ อ้างเกินจริง ทั้งทำให้ผิวสวย หน้าใส ลดน้ำหนัก ป้องกันโรค ย้ำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ช่วยลดน้ำหนัก หรือเสริมเรื่องทางเพศ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร ว่ามีผู้ป่วยอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดซึ่งผู้ป่วยแจ้งว่าได้บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซันคลาร่า นั้น อย.รุดตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที พบว่า มีการโฆษณาอาหารเสริมดังกล่าวทางคลื่นวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต และคำแนะนำจากผู้ที่เคยใช้ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่ายในจังหวัดชุมพร เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารที่เป็นอันตราย รวมทั้งจะพิจารณาในเรื่องการระงับโฆษณา และขยายผลตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีต่อไป
“นอกจากนี้ อย.ยังเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า” ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริงทางวิทยุชุมชน แผ่นพับ และเว็บไซต์ http://www.starsunshine.com เกรงว่าจะมีการหลอกลวงประชาชน เพราะมีข้อความโฆษณาสรรพคุณป้องกันโรคต่างๆ ซึ่ง อย.ได้ตรวจสอบทันที พบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ซันคลาร่า” ทางแผ่นพับ วิทยุ และเว็บไซต์ดังกล่าวจริง โดยระบุข้อความโฆษณา เช่น “...ผิวสวย หน้าใส ภายในกระชับ ช่วยให้ผนังเส้นเลือดโดยเฉพาะเส้นเลือดดำ (veins) มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยให้น้ำหนักลดลง ป้องกันความผิดปกติของผิวหนัง ป้องกันโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์...” เป็นต้น ทั้งนี้ อย.ได้ตรวจสอบข้อความโฆษณาดังกล่าว ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย.แต่อย่างใด ดังนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยได้ดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์ ซันไชน์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับว่าเป็นผู้จัดทำข้อความโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ พร้อมทั้งมีหนังสือ ไปยังบริษัทฯ เพื่อระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อแล้ว" นพ.พิพัฒน์ กล่าว
เลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สำคัญ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค นอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจำตัว อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้ พร้อมทั้ง ขอให้ผู้ประกอบการทุกรายเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่างๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิฉะนั้น อย. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริงผ่านทางสื่อ ต่างๆ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สสจ.อ่างทองเตือนผู้บริโภค
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 07 พฤศจิกายน 2554 11:32
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 3926
สสจ.อ่างทองเตือนผู้บริโภค ระวังการโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เนื่องจากพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายพยายามใช้วิธีการโฆษณาอาหาร โดยพยายามอวดอ้างสรรพคุณของอาหารให้มีคุณประโยชน์ และคุณภาพที่เกินกว่าความเป็นจริง เช่นนำบุคคลต่างๆมาให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อรับประทานอาหารชนิดนี้แล้ว ทำให้ร่างกายหายจากโรคหรือบรรเทาอาการของโรคได้ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งๆที่ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเพียงอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจะต้องสอบถามข้อมูลจากผู้ขายเสียก่อนว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจาก อย. แล้วหรือไม่ หากผู้ประกอบการรายใดทำการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ตาม พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522 และมีกำหนดโทษตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจว่าสินค้าที่จะซื้อมีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตามที่โฆษณาหรือไม่ สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 1556 สายด่วน อย.