วันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 16.00 น. นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้เป็นประธานในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2561ณ บริเวณทางเข้าวัดไชโยวรวิหาร ติดถับถนนสายเอเชีย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32เพื่อเป็นการรณรงค์ตามโครงการขับขี่ปลอดภัย ขับรถมีน้ำใจ
ซึ่งทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ไปร่วมกิจกรรม ต่างใส่ชุดไทยย้อนยุค สวมโจงกระเบนสวยงามสีสันหลากหลาย หลักเสร็จจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการก็ร่วมกันรณรงค์ แจกยาดม น้ำดื่ม พัด และสิ่งของต่างๆ ให้กับผู้โดยสารที่โดยสารสารธารณะ รถบรรทุก และรถทั่วไปที่สันจรผ่านมาโดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า ปีนี้มีหัวหน้าส่วนราชการร่วมกิจกรรมการแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคเยอะกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าได้สั่งการไปให้แต่งชุดไทยย้อนยุค ทุกคนก็อยากจะโชว์ความสวยความหล่อและเป็นการปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ จึงมาร่วมงานกันมากกว่าปีที่แล้วที่แต่งชุดปกติ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายประมวล มุ่งมาตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานเปิดงานประชาสัมพันธ์วันสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ที่บริเวณแปลงสาธิตการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 1 ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง โดยมีนายอำเภอแสวงหา เกษตรจังหวัดอ่างทอง ข้าราชการสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง ฯลฯ เข้าร่วมพิธีเปิดงานดังกล่าว
นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทองกล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยอีกพืชหนึ่ง ผลผลิตร้อยละ 95 ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพื่อการบริโภคของประชากรภายในประเทศ และการส่งออก คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ปัจจุบันการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ กล่าวคือ ผลิตได้เพียง ปีละ 4-5 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 6 - 8 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวตามปริมาณการ เลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เพาะปลูกโดยอาศัยน้ำฝน จึงทำให้เกิดปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นฝนออกสู่ตลาดมากเกินกำลัง การรับซื้อของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในช่วงดังกล่าว และมักประสบปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอในฤดูแล้ง
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงมุ่งเน้นความสำคัญในประเด็นลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ไม่ถูกต้อง โดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกทดแทนในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดฤดูการเพาะปลูกเพื่อให้มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอกับความต้องการ
จังหวัดอ่างทอง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง จึงได้จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา จำนวน 100 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอโพธิ์ทอง จำนวน 50 ไร่ และ อำเภอแสวงหา จำนวน 50 ไร่ เพื่อเป็นตัวอย่างในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ลดรอบการทำนา สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีโอกาสในการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำนาข้าว ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชไร่ที่สามารถปลูกในพื้นที่นาฤดูแล้งได้ อีกทั้งยังใช้น้ำน้อยกว่าทำนาประมาณ 3 เท่า หรือประมาณ 720-800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ตลอดฤดูปลูก
การจัดงาน ในวันนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมงานจำนวน 120 ราย วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่จะนำไปสู่การปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้อง มั่นคง และยั่งยืน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น. นายประมวล มุ่งมาตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา จ.อ่างทอง โดยมีนายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง ให้การต้อนรับ
นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทอง มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 7 ศูนย์ การดำเนินงานเป็นการดำเนินงานจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่ม-ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชนให้ได้รับความรู้เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัดอ่างทอง โดยทั้ง 7ศูนย์ ของจังหวัดอ่างทอง กำหนดจัดเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้
การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) และบริการการเกษตรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง มีเป้าหมาย เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ด้วยการเพิ่มกิจกรรมไร่นาสวนผสม และส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการจัดสถานีถ่ายทอดความรู้ จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1 การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน สถานีที่ 2 การลดอัตราเมล็ดพันธุ์ สถานีที่ 3 การลดการใช้ปุ๋ยเคมี สถานีที่ 4 การลดการใช้สารเคมี สถานีที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบริการการเกษตรอื่นๆ ให้เกษตรกรจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานอื่นๆ การจัดงานในวันนี้มีเกษตรกรจากอำเภอแสวงหา มาร่วมรับการถ่ายทอดความรู้ และการบริการการเกษตร จำนวน 200 คน
วันที่ 6มิถุนายน 2560 เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ได้มีกลุ่มตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในจังหวัดอ่างทองรวมทั้งหมด 6อำเภอ เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือเรื่องขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ผ่านกับนายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เพื่อส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี
โดยสำหรับจังหวัดอ่างทองมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากระชังจำนวน 6 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 247 ราย โดยมีกระชังปลาที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง 1,975กระชัง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่อำเภอป่าโมกมากที่สุด รองลงมาเป็นอำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอแสวงหา จากข้อมูล เกษตรกรคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เป็นค่าธรรมเนียมรายปีจำนวนทั้งสิ้น 3,809,100บาท หากต้องถูกปรับจะต้องเสียค่าปรับสูงเป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 38,091,000บาท เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังจึงได้ขอขยายระยะการบังคับใช้ พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปีก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป
เนื้อหาอื่นๆ...
- เกษตรอ่างทอง จัดงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อยกระดับแปลงใหญ่
- เกษตรอ่างทองส่งเสริมทำโครงการส่งเสริมแปลงสาธิตการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ปีการผลิต 2559/60
- เกษตรฯ อ่างทอง จัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร ในงาน “๑๑๘ ปี ของดีเมืองอ่างทอง และงานกาชาด ประจำปี ๒๕๕๗”
- เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง จัดพิธีเปิดงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมใจ คืนความสุขสู่ประชาชนจังหวัดอ่างทอง