เชื่อมโยงหน่วยงาน

มากกว่า...

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ปรับขนาดตัวอักษร

            ตามที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554  กรณีผู้บริโภค ต.โนนขมิ้น จ.หนองบัวลำภู  เกิดอาการแพ้ มีผื่นขึ้นเต็มใบหน้า ลำคอ และแขน
             นพ.นรังสันต์  พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีข่าวของผู้บริโภค  ต.โนนขมิ้น จ.หนองบัวลำภู ที่เกิดอาการแพ้โดยมีผื่นขึ้นเต็มใบหน้า ลำคอ และแขน โดยเฉพาะริมฝีปาก   มีลักษณะคล้ายเป็นแผล สันนิษฐานว่าการแพ้น่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้จากการสัมผัสหรือทา ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เครื่องสำอางต่าง ๆ และการแพ้จากการรับประทาน ซึ่งอาจเป็นยาหรือสารใด ๆ  ก็ตามที่มีผลทำให้เกิดการแพ้ ซึ่งการแพ้นี้เป็นปฏิกิริยาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนแต่ละคน       จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ผู้ที่แพ้สารใด เมื่อได้สัมผัสกับสารนั้นเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดอาการที่ไม่พึง-ประสงค์ได้ สำหรับผู้บริโภครายนี้มีการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าผสมสารป้องกันแสงแดด ที่ซื้อจากร้านค้าใกล้บ้าน  อย. จึงได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หนองบัวลำภู และกลุ่มควบคุมเครื่องสำอางของ อย. เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีส่วนผสมที่ผิดปกติหรือไม่
              รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทาง อย. จึงขอเตือนมายังผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้เครื่องสำอาง เพราะถึงแม้เครื่องสำอางจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย แต่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้ ควรอ่านรายละเอียดตามที่ระบุบนฉลาก และปฏิบัติตามวิธีใช้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง เป็นอันตรายต่อผิวพรรณ ดังนั้น ก่อนใช้เครื่องสำอางใด ๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ไม่เคยใช้มาก่อน ควรมีการทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง ด้วยการทาผลิตภัณฑ์นั้นในปริมาณเล็กน้อยลงบริเวณท้องแขนหรือบริเวณติ่งหู ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น แสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ใดแล้ว มีความผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดใช้ทันที หากยังไม่หายให้ปรึกษาแพทย์ และการเลือกซื้อควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยตามข้อความที่กฎหมายกำหนด เช่น ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต เดือนปีที่ผลิต เป็นต้น

ปรับขนาดตัวอักษร

       สสจ.อ่างทองเตือนผู้บริโภค    ระวังการโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. )  เนื่องจากพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายพยายามใช้วิธีการโฆษณาอาหาร   โดยพยายามอวดอ้างสรรพคุณของอาหารให้มีคุณประโยชน์ และคุณภาพที่เกินกว่าความเป็นจริง เช่นนำบุคคลต่างๆมาให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อรับประทานอาหารชนิดนี้แล้ว  ทำให้ร่างกายหายจากโรคหรือบรรเทาอาการของโรคได้   การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในผลิตภัณฑ์นั้นๆ   ทั้งๆที่ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเพียงอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้   ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง  ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจะต้องสอบถามข้อมูลจากผู้ขายเสียก่อนว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจาก อย. แล้วหรือไม่  หากผู้ประกอบการรายใดทำการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.  การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณาคุณประโยชน์  คุณภาพอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ตาม พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522 และมีกำหนดโทษตามกฎหมาย  หากมีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจว่าสินค้าที่จะซื้อมีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตามที่โฆษณาหรือไม่  สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 1556 สายด่วน อย.

ปรับขนาดตัวอักษร

      ด้วยสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ร่วมกับวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีองค์สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นองค์สังฆราชูปถัมภ์ได้จัดสร้างเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ระลึก ๑๐๐ ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
      บุคคากร ประชาชน ที่มีจิตศรัทธาสั่งจองเหรียญฯ  สามารถดาวน์โหลดรายละเอียดได้ที่นี่ 

ปรับขนาดตัวอักษร


         นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช นายแพทย์เชี่ยวชาญ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) ได้สั่งการและเน้นให้โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เฝ้าระวังและควบคุมป้องกัน 2 โรคในเด็กที่พบมากในฤดูฝน คือไข้เลือดออกและโรคมือเท้าปาก ซึ่ง 2 โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากฝนตกชุกและสภาพอากาศชื้น มีอาการเริ่มต้นใกล้เคียงกัน พบได้ตลอดปี และพบมากขึ้นในฤดูฝน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน กลุ่มที่ต้องให้การดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งยังดูแลตัวเองได้น้อยกว่าคนทั่วไป สถานการณ์โรคทั้ง 2 โรคล่าสุด ในระดับประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 5,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและนักเรียน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรคมือเท้าปากพบผู้ป่วยสะสม 16,112 ราย ร้อยละ 93 อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่มีเสียชีวิต 

         สำหรับจังหวัดอ่างทอง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 พบผู้ป่วย 121 ราย อัตราป่วย 42.93 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.4 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กและนักเรียน กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี  รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อำเภอไชโย อัตราป่วย 99.44 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ แสวงหา และเมืองอ่างทอง อัตราป่วย 60.56, 44.64 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ  จึงได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เร่งดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น ซึ่งคาดว่าจะระบาดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงขอความร่วมมือหน่วยงานทุกแห่งทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนทุกพื้นที่ ควรเร่งดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์/รณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและภาชนะที่มีน้ำขังที่ไม่ได้ใช้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องในชุมชน โดยเน้นมาตรการ 5ป 1ข ปิดฝาภาชนะให้สนิท เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำทุกๆ 7 วัน ขัดล้างไข่ยุงลายที่แห้งติดภาชนะ ส่วนการรักษาเน้นการป้องกันการเสียชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งได้อบรมฟื้นฟูความรู้และแนวทางตรวจวินิจฉัย การรักษา โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ แพทย์รักษาเด็ก หากพบผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัยคือไข้สูงมากกาว่า 38 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการไอ ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรคไข้เลือดออก ตามมาตรการที่กำหนด และหากพบว่าเป็นไข้เลือดออกให้ประสานส่งทีม     เฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ลงควบคุมโรคที่บ้านหรือโรงเรียน ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

            สำหรับโรคมือเท้าปาก ขณะนี้พบว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะอยู่ในช่วงการระบาด แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง จำนวนผู้ป่วยในภาพรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล เนื่องจากมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ให้ประสานครูในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง เพื่อร่วมเฝ้าระวังและตรวจจับโรคได้ทันและแจกเอกสารความรู้โรคมือเท้าปาก ให้ผู้ปกครองเด็กทุกคน รวมทั้งขอความร่วมมือให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อเครื่องเล่น ของใช้ของเด็กทุกวัน ประการสำคัญให้ช่วยตรวจคัดกรองเด็กทุกเช้า ดูตุ่มที่มือ เท้า และปากของเด็ก หรือมีไข้ หากพบเด็กป่วยให้แยกเด็กและให้ผู้ปกครองรับตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทันที      

ทั้งนี้ อาการของโรคมือเท้าปากและไข้เลือดออก จะเริ่มจากไข้สูงเหมือนกัน และไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก หากเป็นไข้เลือดออก ไข้จะสูงลอยต่อเนื่อง กินยาลดไข้ไม่ลด หน้าแดง มีผื่นแดง หรือจุดเลือดออก     ใต้ผิวหนัง ส่วนมือเท้าปาก หลังมีไข้จะมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นที่บริเวณมือ เท้า มักไม่คัน และตุ่มอาจขึ้นภายในเยื่อบุช่องปาก ตามลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เด็กจะเจ็บ ไม่กินอาหาร หากประชาชนพบบุตรหลานมีอาการป่วยที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโดยเร็ว  

15308113
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา
เฉพาะเดือนนี้
เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมด
11233
12570
29441
15261681
158884
170375
15308113

IP 3.142.255.252
Server Time: 2024-07-23 05:35

สำหรับเจ้าหน้าที่

ปรับขนาดตัวอักษร

Copyright © 2015 จังหวัด อ่างทอง
จัดทำโดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
โทร.0-3561-1235 , 0-3561-4912  e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. / This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.