เชื่อมโยงหน่วยงาน

มากกว่า...

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ผลกระทบจากการค้างชำระเงินสมทบ

ปรับขนาดตัวอักษร

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑ คนขึ้นไป ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม ด้วยการแจ้งขึ้นทะเบียนนายจ้างลูกจ้าง ทั้งกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ณ สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่                   ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ และชำระเงินสมทบเข้าทั้ง ๒ กองทุน

กองทุนประกันสังคม

         นายจ้างและลูกจ้างต้องชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ปัจจุบันนายจ้างและลูกจ้างต้องชำระเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ ๕ ของค่าจ้างต่อเดือน ฐานค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องนำส่งเงินจำนวน ๑,๖๕๐ บาท เงินสมทบที่ต้องนำส่งจำนวน ๘๓ บาท หากลูกจ้างรายใดได้รับค่าจ้างต่อเดือนไม่ถึง ๑,๖๕๐ บาท ให้นำส่งในฐานขั้นต่ำ และฐานค่าจ้างสูงสุดที่ต้องนำส่งจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท เงินสมทบที่ต้องนำส่ง ๗๕๐ บาท หากลูกจ้างได้รับค่าจ้าง     สูงกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท ให้นำส่งในฐานค่าจ้างสูงสุดที่กำหนด

         การชำระเงินสมทบต้องชำระภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไป หากไม่ชำระภายในกำหนดต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือน ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทดแทนทั้งหมด ๗ กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต     ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

กองทุนเงินทดแทน

        นายจ้างจะเป็นผู้ชำระเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียวปีละ ๑ ครั้ง จำนวนเงินสมทบจะมากหรือน้อย     ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของประเภทกิจการ ซึ่งมีอัตราเงินสมทบหลักตั้งแต่ร้อยละ ๐.๒ - ๑ ของค่าจ้างต่อปี ฐานค่าจ้างขั้นต่ำที่จะต้องนำส่งตามค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่อัตราวันละ ๓๐๐ บาท เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท หากลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ ๓๐๐ บาท เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ให้นำส่งในฐานค่าจ้างขั้นต่ำและฐานค่าจ้างสูงสุดที่ต้องนำส่งอยู่ที่ ๒๐,๐๐๐ บาท หากลูกจ้างได้รับค่าจ้าง   สูงกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท ให้นำส่งในฐานสูงสุดที่กำหนด

         การชำระเงินสมทบต้องชำระภายในวันที่ ๓๑ มกราคมของทุกปี หากไม่ชำระภายในกำหนด ต้องชำระเงินเพิ่มในอัตรา   ร้อยละ ๓ ต่อเดือน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจะต้องเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เสียชีวิต     หรือสูญหาย ที่เกิดเนื่องจากการทำงานหรือทำตามคำสั่งของนายจ้าง

ประเภทของเงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคม แบ่งได้ ๓ ประเภท คือ

๑.นายจ้างไม่ชำระเงินสมทบภายในกำหนดเวลา (หนี้เต็มเดือน)

๒.นายจ้างชำระเงินสมทบไม่ครบถ้วน (หนี้เพิ่มเติมส่วนที่ขาด)

๓.นายจ้างชำระเงินสมทบแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (เช็คขัดข้อง)

ประเภทของเงินสมทบค้างชำระกองทุนเงินทดแทน แบ่งได้ ๓ ประเภท คือ

๑.นายจ้างไม่ชำระเงินสมทบประจำปี

๒.นายจ้างไม่ชำระเงินสมทบจากการรายงานค่าจ้างประจำปี

๓.นายจ้างไม่ชำระเงินสมทบจากการตรวจบัญชีค่าจ้างประจำปี

         สาเหตุของการเกิดเงินสมทบค้างชำระทั้ง ๒ กองทุน อาจมีสาเหตุมาจากนายจ้างประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจไม่ดี      ดำเนินธุรกิจขาดทุน ขาดเงินทุนหมุนเวียน ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ นายจ้างไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง เช่น หยุด/เลิกกิจการ สิ้นสุดโครงการ ไม่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากย้ายสถานประกอบการ โอนย้ายพนักงานไปบริษัทอื่น การแจ้งเข้าแจ้งออกของลูกจ้าง

 

 

 

 

 

                                                                   หน้าที่ ๒

 

         ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ที่พบปัญหาทำให้เกิดการค้างชำระเงินสมทบ ส่วนใหญ่สาเหตุมาจาก นายจ้างกรอกแบบนำส่งเงินสมทบ (สปส.๑-๑๐) ไม่ถูกต้อง อาจเนื่องมาจากการปัดเศษสตางค์ รวมทั้งคำนวณยอดเงินที่จะต้องนำส่งไม่ถูกต้อง      นำส่งเงินสมทบต่ำกว่าฐานค่าจ้างที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด อัตราเงินสมทบที่นำส่งไม่ถูกต้อง ส่งเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน     เพียงฝ่ายเดียว ตลอดจนนำส่งเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด มอบหมายให้สำนักงานบัญชีดำเนินการในการนำส่งเงินสมทบ          โดยนายจ้างไม่ได้ตรวจสอบว่าสำนักงานบัญชีนำเงินไปชำระหรือไม่

          การค้างชำระเงินสมทบของนายจ้าง มีผลกระทบทำให้ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนไม่สามารถใช้สิทธิจากทั้ง ๒ กองทุน     ได้ในทันทีทันใดทุกกรณี ทำให้ได้รับความเดือนร้อนโดยเฉพาะในเรื่องของการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ หากนายจ้างค้างชำระเงินสมทบติดต่อกันตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป บัตรรับรองสิทธิ               การรักษาพยาบาลจะถูกตัดโดยอัติโนมัติไม่สามารถใช้สิทธิได้ ผู้ประกันตนจะต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน แล้วนำเอกสารหลักฐานมายื่นขอเบิกคืนในภายหลัง สิทธิประโยชน์หรือเงินทดแทนกรณีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามให้นายจ้างมาชำระหนี้จนครบถ้วน หรือได้ข้อเท็จจริงแล้วว่ามิได้เกิดจากความผิดของลูกจ้างหรือผู้ประกันตน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะวินิจฉัยให้ได้รับสิทธิประโยชน์หรือเงินทดแทนได้ในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเสถียรภาพ           ทั้ง ๒ กองทุนอีกด้วย

         จากการค้างชำระเงินสมทบของนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่พึงได้รับครบถ้วน สำนักงานประกันสังคม           ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้ดำเนินการตามกฎหมายแก่นายจ้างอย่างเคร่งครัดด้วยการโทรศัพท์       แจ้งให้ทราบในเบื้องต้น พร้อมออกหนังสือเตือนให้นายจ้างชำระเงินสมทบและเงินเพิ่มตามกฎหมายภายใน ๓๐ วัน และเชิญพบพนักงานเจ้าหน้าที่ หากนายจ้างยังเพิกเฉยไม่มาดำเนินการชำระเงินสมทบและไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งเหตุผล   ในการค้างชำระเงินสมทบให้ทราบ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ด้วยการสอบทรัพย์สิน     หากพบว่ามีทรัพย์สินจะดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่นายจ้างค้างไว้             หากดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างแล้ว แต่ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน สำนักงานประกันสังคม มีนโยบายที่จะฟ้องให้นายจ้างเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป หากนายจ้างรายใดมีปัญหาหรือข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง โทรศัพท์ ๐ ๓๕๖๑ ๒๑๙๙ ต่อ ๑๔๑-๑๔๓ ในวันและเวลาราชการ

 

                                                                    

                                                                 ---------------------------------

 

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘                

 

14652619
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา
เฉพาะเดือนนี้
เดือนที่ผ่านมา
ทั้งหมด
884
3807
26749
14589443
245405
280110
14652619

IP 54.81.157.133
Server Time: 2024-03-29 05:34

สำหรับเจ้าหน้าที่

ปรับขนาดตัวอักษร

Copyright © 2015 จังหวัด อ่างทอง
จัดทำโดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
โทร.0-3561-1235 , 0-3561-4912  e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. / This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.