ผู้ประกันตน 2 ฐาน ต้องทำอย่างไร
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 28 กรกฎาคม 2557 00:00
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 4435
นางจุฑาทิพ ลักษณา ประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40 เป็นรูปแบบความคุ้มครองตามความสมัครใจ ดังนั้น ผู้ประกันตนบางคนเริ่มสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตั้งแต่อายุ 15 ปี
และส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเรียนจบการศึกษาและบางคนก็มีงานทำเป็นหลักแหล่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงาน
ตามกฎหมายประกันสังคม จะถูกบังคับให้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงส่งผลให้มีคนบางคนเป็นผู้ประกันตนทั้ง 2 ฐาน คือ
เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ก่อน และต่อมาได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วย หากยังมีการส่งเงินสมทบทั้ง 2 ฐานก็ส่งผลให้
เกิดสิทธิในการได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมทั้ง 2 ฐาน ซึ่งตามกฎหมายเมื่อเกิดกรณีการได้รับประโยชน์ทดแทน
ในลักษณะเดียวกันทั้ง 2 ฐาน กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกันตนเลือกรับสิทธิประโยชน์สูงได้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น
สำหรับกฎหมายประกันสังคมตามมาตรา 40 ที่ได้ออกเป็นพระราชบัญญัติ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกันตน
มาตรา 40 ไว้ “มาตรา 40 บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างมาตรา 33 จะสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ให้แสดงความจำนง
ต่อสำนักงาน” ดังเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้วเมื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนไว้ก่อน และมีการนำส่งเงิน
สมทบอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาได้สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างและมีประกันสังคมตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะต้องสิ้นสุดความ
เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทันทีนับจากวันที่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เนื่องจากตามกฎหมายประกันสังคมได้ห้ามไม่ให้
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หลายคนอ่านเรื่องนี้แล้วอาจจะกังวลว่าเงินสมทบที่ได้ส่งเข้ากองทุน
ประกันสังคมตามมาตรา 40 ก่อนหน้าที่จะได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะยังคงอยู่หรือไม่ ตรงส่วนนี้ต้องขอเรียนทำความเข้าใจ
เป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ
1.กรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้มีการจ่ายเงินสมทบไว้ล่วงหน้าแล้ว ต่อมาได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำนักงาน
ประกันสังคมจะคืนเงินล่วงหน้าในส่วนที่เหลือภายหลังจากเดือนที่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คืนให้กับผู้ประกันตน
2.กรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เลือกสิทธิประโยชน์ที่มีเงินกรณีชราภาพ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ
แล้วสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากได้ไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เงินชราภาพในส่วนนี้สำนักงานประกันสังคมจะคืนให้
พร้อมดอกผลแก่ผู้ประกันตนเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว
3.กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ได้กลับไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่ต่อมาได้เสียชีวิต แต่มีเงินกรณีชราภาพ
ตามมาตรา 40 ที่ยังคงอยู่ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งต้องรอรับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น หากผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
สำนักงานประกันสังคมจะคืนเงินชราภาพของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตดังกล่าวพร้อมดอกผลให้กับทายาทของผู้ประกันตนทั้งหมด
นางจุฑาทิพฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการได้เข้าสู่ระบบความคุ้มครองประกันสังคมของผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ
ความคุ้มครองประกันสังคมแบบบังคับตามมาตรา 33 หรือรูปแบบความคุ้มครองแบบสมัครใจมาตรา 39 หรือตามมาตรา 40
ล้วนแล้วแต่มีส่วนเติมเต็มให้ผู้ใช้แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ได้รับสิทธิความคุ้มครองทางสังคมที่เรียกว่า
“ประกันสังคม” ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนและครอบครัว หากผู้ประกันตนรายใดมีข้อสงสัยติดต่อสอบถาม
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง เลขที่ 2 ถนนเทศบาล 8 ตำบลย่านซื่อ อำเภอเมีอง จังหวัดอ่างทอง
โทร 0 3561 2199 ต่อ 131-134 ในวันและเวลาราชการ หรือ สายด่วน 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
---------------------------------
28 กรกฎาคม 2557