สาธารณสุขจังหวัดอ่างทองแจ้งเตือนผู้บริโภค ให้ระมัดระวังในการซื้ออาหารเจไปรับประทาน เนื่องจาก อย. พบอาหารเจปลอม
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันพุธ, 28 กันยายน 2554 13:31
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 5381
บุกสถานที่จำหน่ายอาหารเจปลอมรายใหญ่ ย่านสุขสวัสดิ์
พบมี DNA เนื้อสัตว์ผสม หลอกลวงผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ
อย. เดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคช่วงเทศกาลกินเจ ไม่ให้ถูกหลอกลวง หลัง อย. ได้รับแจ้งเบาะแสจาก
ผู้บริโภคให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารเจที่ผสมเนื้อสัตว์ ย่านสุขสวัสดิ์ โดยได้สุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ที่น่าสงสัย
ส่งตรวจวิเคราะห์หา DNA เนื้อสัตว์ ตรวจพบมี DNA เนื้อสัตว์ปนเปื้อนอยู่ 8 รายการ รุดประสานตำรวจ
บก.ปคบ. นำกำลังบุกตรวจทันที พบอาหารเจที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และพบอาหารเจชนิดเดียวกับที่ผลวิเคราะห์
ปรากฏว่าพบ DNA เนื้อสัตว์ จึงอายัดของกลาง พร้อมเตรียมลงโทษตามกฎหมาย
นพ. นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย พล.ต.ต.พูลทรัพย์
ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ( ผบก.ปคบ.) และ
พ.ต.อ. ทนัย อภิชาติเสนีย์ รอง ผบก. ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ที่มุ่งหวังให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจที่กำลังจะ
มาถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องการเห็นประชาชนบริโภคอาหารเจที่ไม่มีการปลอมปนเนื้อสัตว์ เพื่อมิให้เสียความ
ตั้งใจในการสร้างบุญกุศล จึงได้มอบหมาย อย. ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหารเจในท้องตลาด ประกอบกับการได้รับเรื่อง
ร้องเรียนจากชมรมเจแห่งประเทศไทยให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหารเจที่สงสัยว่ามีการลักลอบผสม
เนื้อสัตว์ ทาง อย. จึงได้สุ่มซื้อผลิตภัณฑ์ สงสัยว่าผสมเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายหลายแห่ง ส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่า
มี DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ในอาหารเจจำนวน 8 รายการ ได้แก่ ทอดมันเจ , ผลิตภัณฑ์อาหารเต้าหู้สามเหลี่ยมเจ
ฉลากระบุ เต้าหู้สามเหลี่ยมเจ , แร็กเก็ต ปูอัดเจ, ผลิตภัณฑ์อาหารลักษณะเหมือนไส้กรอก ฉลากระบุ จูเนียร์เจ ,
ผลิตภัณฑ์อาหารลักษณะเหมือนเต้าหู้ปลา ฉลากระบุลูกชิ้นเต๋าเจ , ผลิตภัณฑ์อาหารลักษณะคล้ายก้ามปู ฉลากระบุ
ก้ามปูเจ , ผลิตภัณฑ์อาหารลักษณะคล้าย เนื้อกุ้ง ฉลากระบุ กุ้งเล็กเจ และผลิตภัณฑ์อาหารลักษณะคล้ายลูกชิ้น
ฉลากระบุ ลูกชิ้นผักเจ ซึ่งอาหารเจ ทั้ง 8 รายการนี้ ผลวิเคราะห์ส่วนใหญ่ พบดีเอ็นเอจำเพาะของปลา ปลาหมึก กุ้ง
หรือไก่ โดย อย. ได้ประสานไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
(บก.ปคบ.) สืบสวนหาข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า มีสถานที่จำ หน่ายอยู่ในย่านสุขสวัสดิ์ ดังนั้น ในวันที่
26 กันยายน 2554 อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. นำหมายค้นเข้าตรวจสถานที่จำหน่าย เลขที่ 6/16 ซ.สุขสวัสดิ์ 2
ถ.สุขสวัสดิ์ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ พบเป็นโรงงานขนาดใหญ่ผลิตอาหาร โดยในช่วงเทศกาลกินเจ
ได้รับอาหารเจมาจำหน่ายพ่วงกับผลิตภัณฑ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิต จากการตรวจค้นพบอาหารเจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
อยู่ในตู้แช่ และตู้คอนเทนเนอร์ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. อาหารเจที่เคยมีประวัติตรวจพบ DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ 8 รายการข้างต้น
2. อาหารเจที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง 42 รายการ เช่น หมูแผ่นเจ, ปลาห่อสาหร่าย, หมูแดง, ลูกชิ้นเห็ด,
ยอเห็ดหอม เป็นต้น น้ำหนักรวมประมาณ 1 ตัน (ประมาณ 3,500 ถุง)
เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดของกลางทั้งหมด รวมมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท พร้อมเก็บตัวอย่างอาหารเจดังกล่าว
ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมแจ้งข้อหาในเบื้องต้น ดังนี้
1. ข้อหาผลิตและจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
2. หากผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามี DNA จำเพาะของเนื้อสัตว์ จะเข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือ
พยายามลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพหรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี
และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท
นพ. นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ประชาชนที่มีจิตกุศลต้องการ
สร้างบุญในการบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ ล้วนแต่ต้องการงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ จึงขอเตือนผู้ผลิต
และผู้จำหน่ายอาหารเจทุกราย ขอให้มีจริยธรรมในการประกอบการ สำหรับผู้บริโภค อย. จะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้
ผู้บริโภคถูกหลอกลวง และ อย.จะตรวจสอบแหล่งผลิตและจำหน่ายอาหารเจอย่างเข้มงวดทุกปีหากพบเห็นการผลิต
การจำหน่าย อาหารเจจาก แหล่งใดๆ ก็ตาม ที่น่าสงสัยว่าจะมี DNA เนื้อสัตว์ปลอมปนขอได้รีบโปรดแจ้งมายังสายด่วน
อย. โทร 1556 หรือร้องเรียนที่ บก.ปคบ. ตู้ปณ. 459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม. 10400 เพื่อ อย.
และ บก.ปคบ. จะได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมทั้งลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย
ต่อไป